ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
|

ระบบสารสนเทศ
ระบบสารสนเทศ (Information System) คือ การประมวลผลข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นกระบวนการเพื่อให้ข้อมูลในรูปของข่าวสารที่เป็นประโยชน์สูงสุด และเป็นข้อสรุปที่สามารถนำไปใช้สนับสนุนการบริหาร และการตัดสินใจ ทั้งในระดับปฏิบัติการ ระดับกลาง และระดับสูง ระบบสารสนเทศจึงเป็นระบบที่จัดตั้งขึ้น เพื่อปฏิบัติการเกี่ยวกับข้อมูล ดังต่อไปนี้

1) รวบรวมข้อมูลทั้งภายใน ภายนอก ที่จำเป็นต่อหน่วยงาน
2) จัดกระทำเกี่ยวกับข้อมูลเพื่อให้เป็นสารสนเทศที่พร้อมจะใช้ประโยชน์ได้
3) จัดให้มีระบบเก็บเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกต่อการค้นหาและนำไปใช้
4) มีการปรับปรุงข้อมูลเสมอเพื่อให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันตลอดเวลา
ในการทำงานใด ๆ ให้ลุล่วงตามวัตถุประสงค์และภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จะต้องมีการวางแผนและออกแบบระบบการทำงานให้ดีที่สุด เพื่อลดปัญหาความผิดพลาดและความล่าช้าของปฏิบัติงาน ระบบสารสนเทศเป็นกระบวนการจัดการข้อมูลข่าวสารในการดำเนินงานทั้งส่วนบุคคลและองค์กร ทำงานสารสนเทศโดยทั่วไปเป็นกระบวนการทำงานที่ประกอบด้วย คน ข้อมูล และเครื่องจักร สิ่งที่จำเป็นในการดำเนินงานระหว่างองค์ประกอบสามประการนี้ได้แก่การสื่อสารข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้การทำงานสอดคล้องประสานกันไปในทิศทางที่ต้องการ
การสื่อสารเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจากแหล่งกำเนิดเนื้อหาสาระไปสู่ปลายทาง เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน การสื่อสารระหว่างบุคคลใช้ช่องทางผ่านอวัยวะรับสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย โดยใช้สื่อที่เหมาะสม เช่น เสียงพูด รูปภาพ กลิ่น รสชาด ผิวสัมผัส ส่วนการสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักรต้องใช้โปรแกรมหรือคำสั่งที่เหมาะสมกับเครื่องจักรแต่ละชนิด ตัวอย่างเช่น การสื่อสารกับรถยนต์ด้วยพวงมาลัยเพื่อสั่งการให้ไปตามทิศทางที่ต้องการ การเหยียบครัช เข้าเกียร์ และคันเร่งเพื่อให้รถเคลื่อนตัว การเหยียบเบรกเพื่อให้รถหยุด ข้อมูลที่ถูกป้อนเพื่อให้รถยนต์ตอบสนองคือแรงที่กระทำต่อพวงมาลัย และคันบังคับของเกียร์ ครัช หรือเบรก ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจที่จะสั่งรถยนต์ให้เป็นไปตามความต้องการคือสิ่งแวดล้อมที่เรามองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ผิวกายสัมผัส หรือลิ้มรส เช่น ถนน ทุ่งนา ท้องฟ้า ต้นไม้ คน บ้าน ฯลฯ รวมทั้งความต้องการภายในของบุคคลและสังคม ข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวจะถูกวิเคราะห์ สังเคราะห์ จำแนกแยกแยะและสรุปเป็นหมวดหมู่หรือเป็นสารสนเทศอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นความรู้ที่ใช้ตัดสินใจในการเดินทางด้วยรถยนต์ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการ ระดับการตัดสินใจในการเดินทางขึ้นอยู่กับความถูกต้องชัดเจนของข้อมูลสารสนเทศผสมผสานกับกระบวนการรับรู้และเรียนรู้ของบุคคล ประสบการณ์ที่สลับซับซ้อนลักษณะนี้เรียกว่า ระบบงานสารสนเทศ
ระบบสารสนเทศเป็นงานที่เกี่ยวกับข้อมูลประเภทตัวอักษรและตัวเลขจำนวนมากมายมหาศาล หากดำเนินการด้วยมนุษย์หรือเครื่องมือพื้นฐานจะทำให้เสียเวลามากในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อมูล การคิดคำนวณเพื่อประมวลผลจนกลายเป็นสารสนเทศ ทำให้เกิดความล่าช้าและมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย ปัจจุบันมนุษย์ได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการดำเนินงานสารสนเทศแทบทุกสาขาอาชีพ เนื่องจากคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องไฟฟ้าระบบดิจิตอลที่มีศักยภาพสูงในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้จำนวนมาก สามารถจำแนก จัดหมวดหมู่เป็นสารสนเทศ และนำเสนอได้อย่างรวดเร็ว


คอมพิวเตอร์ทำงานได้ด้วยคำสั่งหรือชุดคำสั่งที่เรียกว่า โปรแกรม ซึ่งโปรแกรมมีลักษณะเป็นนามธรรมไม่สามารถจับต้องได้ เป็นสื่อประเภท ซอฟต์แวร์ (Software) ในการดำเนินงานที่มีระบบงานใหญ่อาจต้องใช้โปรแกรมหลายโปรแกรมร่วมกันเป็นคำสั่งให้ครอบคลุมกิจกรรมหรือภาระงาน โปรแกรมอาจจะถูกป้อนเข้าทางแป้นอักขระหรือจากแผ่นดิสก์หรือแผ่นซีดี โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่คำนวณประมวลผลข้อมูลด้วยกรรมวิธีที่กำหนดขึ้นตามจุดประสงค์ของงาน เพื่อกลั่นกรองข้อมูลออกมาเป็นสารสนเทศ เพื่อช่วยในการตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างเหมาะสม

3. องค์ประกอบของระบบสารสนเทศ
การจำแนกองค์ประกอบระบบสารสนเทศมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับเกณฑ์หรือวัตถุประสงค์ของแต่ละงาน ในที่นี้จำแนกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ องค์ประกอบหลัก และองค์ประกอบด้านต่าง ๆ
3.1 องค์ประกอบหลักของระบบสารสนเทศ
องค์ประกอบหลักของระบบสานสนเทศมีองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน ได้แก่ ระบบการคิด และระบบของเครื่องมือ
ระบบการคิด หมายถึง กระบวนการและขั้นตอนในการจัดลำดับ จำแนก แจกแจง และจัดหมวดหมู่ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและเผยแพร่ ระบบการคิดจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของงานสารสนเทศทั้งระดับพื้นฐานและระดับสูงที่มีความสลับซับซ้อนจนต้องใช้ทักษะการจัดการและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง เข้ามาใช้ในการดำเนินงาน
ระบบเครื่องมือ หมายถึง วัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่นำมาใช้ในการรวบรวม จัดเก็บ และเผยแพร่สารสนเทศให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการจัดการสารสนเทศที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในองค์กร หน่วยงาน หรืองานธุรกรรมต่าง ๆ แทบทุกวงการ จนทำให้คอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตกลายเป็นสัญลักษณ์ของสารสนเทศ
องค์ประกอบด้านต่าง ๆ ของระบบสารสนเทศ
เนื่องจากสารสนเทศ เป็นวิธีการหรือกระบวนการในการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานต่าง ๆ ดังนั้นองค์ประกอบสารสนเทศของงานแต่ละด้านจึงแตกต่างกัน ดังนี้
องค์ประกอบของสารสนเทศด้านจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา มี 4 ประการ ได้แก่ ข้อมูล (Data) สารสนเทศ (Information) ความรู้ (Knowledge) ปัญญา (Wisdom) ที่ช่วยแก้ปัญหาในการดำเนินงาน
องค์ประกอบของสารสนเทศด้านขั้นตอน ในการดำเนินงานมี 3 ประการ คือ ข้อมูลนำเข้า
(Input) กระบวนการ (Process) และผลลัพธ์ (Output) การทำงานจะเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนข้อมูลดิบที่เข้ามาสู่การคำนวณประมวลผลหรือการกลั่นกรองจนได้ชิ้นงานหรือผลลัพธ์ (output) และจัดเก็บเพื่อนำออกมาเผยแพร่ในลักษณะของสารสนเทศต่อไป

องค์ประกอบของสารสนเทศในหน่วยงาน ได้แก่ บุคคลหรือองค์กร เทคโนโลยี ข้อมูล และระบบสารสนเทศ
องค์ประกอบระบบสารสนเทศทั่วไป (Information Process Systems) ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบดังนี้ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสื่อสารข้อมูล (hardware) ข้อมูล(data) สารสนเทศ (information)โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ (software) บุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ (people ware)

ข้อมูลและสารสนเทศ
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการทำงานใด ๆ ที่ได้ผลดีจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องครอบคลุมและตรงประเด็นประกอบการตัดสินใจในการเลือกวัตถุดิบ เนื้อหาสาระ บุคลากร และวิธีการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยการจำแนกแจกแจง จัดหมวดหมู่และการประมวลผลข้อมูลที่เกี่ยวข้องทุกด้านอย่างเป็นระบบที่เรียกว่าสารสนเทศ จึงนับได้ว่าข้อมูลและสารสนเทศมีประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบุคคลและหน่วยงาน
6.1 ข้อมูล (data)
ข้อมูล หมายถึง ข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ทั้งที่สามารถนับได้และนับไม่ได้ มีคุณลักษณะเป็นวัตถุสิ่งของ เหตุการณ์หรือสถานการณ์ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และต้องเป็นสิ่งมีความหมายในตัวมันเองซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของรูปภาพ แสง สี เสียง รส นอกจากนี้ข้อเท็จจริงอาจจะอยู่ในรูปของคุณสมบัติเป็นน้ำหนัก แรง อุณหภูมิ จำนวน ซึ่งสามารถแทนค่าด้วยตัวเลข ตัวอักษรข้อความก็ได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มีหลายระดับตั้งแต่ข้อมูลเบื้องต้นหรือข้อมูลดิบจนถึงข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งแต่ละอย่างมีความหมายดังนี้
ข้อมูลดิบ (raw data) หมายถึง วัตถุสิ่งของ เหตุการณ์ สถานการณ์ ที่มีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติอยู่ในสภาพเดิม มีความอิสระเป็นเอกเทศในตัวมันเองยังไม่ผ่านการกลั่นกรอง ไม่ได้ถูกนำไป แปรรูปหรือประยุกต์ใช้กับงานใด ๆ การตีความข้อมูลดิบเกิดจากพฤติกรรมการรับรู้การเรียนรู้หรือประสบการณ์ในการสังเกต การวัด การนับ การสัมผัสจับต้อง หรือกรรมวิธีอื่น ๆ จนสามารถระบุได้ชัดเจนว่าข้อมูลนั้นมีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติเป็นอย่างไร มีชื่อเรียกว่าอะไร
ข้อมูลดิบทุกชนิดที่อยู่ล้อมรอบตัวเรามีจำนวนมากมายมหาศาลแต่ละชนิดล้วนมีศักยภาพและความสำคัญในตัวมันเองทั้งสิ้น แต่ข้อมูลดิบบางชนิดอาจจะไม่จำเป็นไม่มีประโยชน์สำหรับบุคคลบางคน บางกลุ่ม บางงาน หรือบางสถานการณ์ ดังนั้นการนำข้อมูลดิบไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงขึ้นอยู่กับการใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านผสมผสานอย่างสอดคล้องกับเนื้อหาสาระ วัตถุประสงค์ และธรรมชาติของบุคลากร
ข้อมูลดิบที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติถูกต้อง (accurate) ต้องปรากฏให้เห็นอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ใช่ภาพลวงตาหรือความคิดเพ้อฝันตามจินตนาการ มีคุณลักษณะเฉพาะที่ชัดเจนแน่นอนสามารถระบุได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เช่น ก้อนหิน ต้นไม้ ท่อนฟืน ต้นข้าว ฟาง น้ำ น้ำร้อน น้ำเย็น ทราย จาน ชาม ถ้วย บ้าน วัด เสียงนก เสียงคน พายุ ลม ฝน หนัก เบา ฯลฯ ดังนั้นข้อมูลที่ดีต้องมีคุณสมบัติชัดเจนปราศจากข้อสงสัยในการตีความ
สารสนเทศ (informational)
สารสนเทศ หมายถึง ข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองโดยการจำแนกแจกแจง จัดหมวดหมู่ การคำนวณและประมวลผลแล้ว สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปได้ อย่างไรก็ตามสารสนเทศที่ประกอบด้วยเนื้อหาสาระพื้นฐานทั่วไปอาจกลายเป็นข้อมูลสำหรับงานสารสนเทศขนาดใหญ่ที่มีความสลับซับซ้อนก็ได้ ข้อมูลดังกล่าวจึงเรียกว่า ข้อมูลสารสนเทศ (informational data) ดังนั้นการตีความในความหมายของสารสนเทศจึงมีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละงานว่ามีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างกว้างขวางหรือซับซ้อนมากน้อยเพียงใด หากมีความซับซ้อนมากสารสนเทศเบื้องต้นก็จะกลายเป็นข้อมูลสารเทศของงานสารสนเทศขนาดใหญ่หรือสารสนเทศขั้นสูงต่อไปตามลำดับ
คุณสมบัติของข้อมูลสารสนเทศที่ดี
ข้อมูลสารสนเทศที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1) ความถูกต้อง (accurate) ข้อมูลสารสนเทศที่ดีต้องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง สามารถอ้างอิงได้จากแหล่งข้อมูลอื่นโดยเฉพาะข้อมูลดิบ สามารถแสดงขั้นตอนหรือกระบวนการด้วยสื่อที่เหมาะสม เช่น ตัวอักษรข้อความ รูปภาพ แผนภูมิ แผนภาพ ภาพเคลื่อนไหว แสง สี เสียง เป็นต้น ดังนั้นข้อมูลสารสนเทศที่ดีต้องมีคุณสมบัติถูกต้องชัดเจนปราศจากข้อสงสัยในการตีความ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
2) ทันเวลา (timeliness) ข้อมูลสารเทศต้องมีลักษณะเป็นปัจจุบันเสมอ สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ท่วงทันเวลาและเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีการบันทึกและจัดเก็บข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาอย่างเป็นระบบให้เป็นหมวดหมู่ สามารถสืบค้นได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว
3) สอดคล้องกับงาน (relevance) ข้อมูลสารสนเทศต้องสอดคล้องและครอบคลุมกับงานที่กำลังดำเนินการอยู่ ไม่ใช่ข้อมูลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
4) สามารถตรวจสอบได้ (verifiable) ข้อมูลสารสนเทศที่ดีต้องสามารถตรวจสอบได้ว่าถูกต้อง น่าเชื่อถือหรือไม่ สามารถอ้างอิงและตรวจสอบได้
5) มีความสมบรูณ์ครบถ้วน (integrity) ข้อมูลสารสนเทศที่ดีจะต้องมีเนื้อหาสาระรวมถึงขั้นตอนและกระบวนการหรือวิธีการครอบคลุมการดำเนินงานโดยรวม
ชนิดของข้อมูล
ข้อมูลมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการจำแนก ในที่นี้จำแนกข้อมูลตามลักกษณะการจัดเก็บซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ
1) ข้อมูลที่เป็นตัวเลข (Numeric type) ใช้ระบุความหมายของสิ่งต่าง ๆ ในเชิงปริมาณ เช่น ราคาสินค้า จำนวนสิ่งของ ความสูง โดยระบุเป็นตัวเลขเท่านั้น เช่น 15.75 (บาท) 1,750 (กล่อง) 175.3 (ซ.ม.) 10111000 (เลขฐานสอง เท่ากับ 184 ของเลขฐานสิบ) เป็นต้น
2) ข้อมูลที่เป็นตัวอักขระ (Character type) ใช้บรรยายความหมายหรือแทนข้อมูลบางอย่าง เช่น รถยนต์ เกวียน น.ส. ศรีสมร เป็นต้น
3) ข้อมูลที่เป็นตัวอักษรเลข (Alphanumeric type) หมายถึงมีทั้งตัวอักษร ตัวเลข และตัวสัญลักษณ์พิเศษ (เช่น !,.?%$#@-+) ปนกัน ใช้บรรยายหรือสื่อความหมายต่างๆ ได้ตามแต่จะกำหนด เช่น A4 $500.00
4) ข้อมูลมัลติมีเดีย (multimedia) หรือสื่อประสม เช่น ภาพ เสียง ข้อความ ปนกัน เป็นต้น เป็นข้อมูลอีกประเภทหนึ่งที่กล่าวถึงกันมาก แต่ความจริงแล้วข้อมูลชนิดนี้ถูกจักเก็บในคอมพิวเตอร์ในรูปของข้อมูลประเภทใดประเภทหนึ่งในสามประเภทแรก
สรุปได้ว่า สารสนเทศ คือ ข้อมูลที่ถูกกลั่นกรองด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้มีคุณค่าและมีความหมายต่อการประยุกต์ใช้งานสำหรับบุคคลหรือองค์กร สารสนเทศอาจอยู่ในรูปของภาพ แสง สี เสียง รูปร่าง รูปทรง ตัวเลข ตัวอักษรข้อความ ฯลฯ ผู้ใช้สามารถนำไปใช้ได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็ว ประโยชน์และคุณค่าของสารสนเทศจะนำไปสู่ “ความรู้” ที่มีประโยชน์ต่อไป
ความรู้ (Knowledge)
ความรู้ เป็นสภาวะทางสติปัญญาของมนุษย์ในการตีความสิ่งเร้าทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกด้วยความเข้าใจสาระของเนื้อหา กระบวนการ และขั้นตอน อาจอยู่ในรูปของข้อมูลดิบหรือสารสนเทศระดับต่าง ๆ หรืออาจอยู่ในรูปของอารมณ์ความรู้สึกและเหตุผล คุณสมบัติของความรู้อาจให้ทั้งประโยชน์และโทษต่อตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์จำเป็นต้องกำกับด้วยสติปัญญา

ทุกยุคทุกสมัยทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต “ความรู้” มีความสำคัญต่อมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมเสมอ มนุษย์ใช้ความรู้ในการแก้ปัญหา การสร้างสรรค์ผลงาน และการจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน เพื่อให้มนุษย์และประชาคมโลกได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขโดยทั่วหน้า อย่างไรก็ตามกระแสโลกาภิวัตน์ที่แผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก นำพาความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ทำให้สังคมยุคใหม่นี้ได้ชื่อว่า สังคมแห่งความรู้ (knowledge Society) โดยแสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ และกิจกรรมต่างๆ ทั้งฝ่ายผู้ผลิตข้อมูลและผู้บริโภคสารสนเทศจึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษา เพื่อให้ทราบว่าเราจะสร้างองค์ความรู้จากข้อมูลและสารสนเทศอย่างไร

จากแผนภาพที่ 2.5 แสดงถึงแหล่งผลิตข้อมูล ซึ่งอาจเกิดจากธรรมชาติหรือกระบวนการที่มนุษย์สร้างขึ้น ข้อมูลอาจได้มาโดยการสร้าง การค้นพบ การรวบรวม และการจัดเก็บ เมื่อผ่านการประมวลแล้วก็จะกลายเป็นสารสนเทศ ซึ่งต้องมีการจัดการสารสนเทศ (Information Management) เช่นการจัดระบบสารสนเทศ การสื่อสาร การนำเสนอสารสนเทศ เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อนำสารสนเทศไปใช้งานก็จะเกิดองค์ความรู้ ซึ่งเป็นสุดยอดของประโยชน์ที่ได้จากระบบจัดการสารสนเทศ การสร้างความรู้จากสารสนเทศจะต้องมีการแปรความ ประเมินผล จัดเก็บ และการนำสารสนเทศหลายรูปแบบมาผสมผสานกับความรู้ที่มีอยู่เดิม ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆได้อีกมากมาย
ในรูปที่มีลูกศรเส้นทึบ แสดงว่าเมื่อมีการจัดการที่ดี ข้อมูลจะถูกแปรไปเป็นสารสนเทศและความรู้ ส่วนลูกศรเส้นประ แสดงว่าเราอาจใช้ความรู้ย้อนไปสร้างสารสนเทศและข้อมูลใหม่ๆ ได้เช่นกัน วงรีสองวงที่ล้อมอยู่และทาบทับกันตรงกลาง แสดงว่ามีขอบเขตงานที่ทับซ้อนกัน คือ มีงานของฝ่ายผลิตข้อมูลและสารสนเทศ และกลุ่มผู้บริโภคข้อมูลและสารสนเทศ กลุ่มผู้บริโภคเป็นผู้นำสารสนเทศไปใช้ให้เกิดความรู้ จึงเห็นได้ว่า สารสนทศเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งกลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภค ทั้งสองฝ่ายจึงต้องทำงานให้สอดคล้องและประสานกัน จึงจะเกิดคุณประโยชน์สูงสุ